วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557
ไปดูชาวบ้านที่ภาชี อยุธยา ทำอาชีพเพาะกล้าไม้ป่า สร้างรายได้
ต้นฉบับจาก ...http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05062150657&srcday=2014-06-15&search=no
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 26 ฉบับที่ 577
เทคโนฯ เสวนาสัญจรจิรวรรณ โรจนพรทิพย์ และ ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา
ไปดูชาวบ้านที่ภาชี อยุธยา ทำอาชีพเพาะกล้าไม้ป่า สร้างรายได้กลับ มากันอีกครั้งกับ "เทคโนฯ เสวนาสัญจร" คอลัมน์ดีๆ ที่พาท่านผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวการทำอาชีพเกษตรกรรมในด้านต่างๆ จากชาวบ้านที่ประกอบอาชีพตัวจริง ในพื้นที่จริง พร้อมเจาะลึกเบื้องหน้า เบื้องหลัง และค้นหาวิธีสร้างรายได้ของการทำเกษตรกรรมในทุกมิติจากทีมงานนิตยสาร เทคโนโลยีชาวบ้าน ที่จะบุกไปค้นหามาเสิร์ฟให้ถึงมือทุกท่าน
อย่าง เรื่องแรกที่ประเดิมไปแล้ว เมื่อ ฉบับที่ 573 ได้นำเสนอการปลูกขนุนของชาวบ้านเมืองแกลงเพื่อส่งออก หรือในอีกไม่ช้าจะทราบเรื่องราวทิศทางของสับปะรดดาวรุ่ง อย่าง เอ็มดี 2 ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้น ยังคงมีเรื่องอื่นที่น่าสนใจต่อๆ ไป ซึ่งจะทยอยนำเสนอตลอดทั้งปี
สำหรับเล่มนี้ก็เช่นกัน ที่ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน มีเรื่องราวของชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ที่ หมู่ที่ 9 ตำบลระโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พวกเขามีทั้งคนในพื้นที่และต่างถิ่นที่ประกอบอาชีพเพาะต้นกล้าไม้ป่านานา ชนิด ณ บริเวณผืนดินแห่งนี้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทำกันเป็นครอบครัว และบางรายอาจใช้พื้นที่ไม่มาก เพียง 1-2 งาน แล้วผนึกกำลังกันทั้งหมู่บ้านอย่างขยันขันแข็ง จนกระทั่งเป็นที่สนใจของบรรดา พ่อค้า-แม่ค้า ขายต้นไม้หลายจังหวัดทั่วประเทศ สั่งซื้อกันเป็นจำนวนมาก เท่านี้...พวกเขาก็มีรายได้ดีบนความอบอุ่นในครอบครัว ภายใต้ภูมิคุ้มกันจากความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ทีมงานเทคโนโลยีชาว บ้าน บุกไปเสวนาสัญจรเช้าตรู่วันแรกของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อเดินทางไปพบกับกลุ่มชาวบ้านที่ หมู่ที่ 9 ตำบลระโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามที่นัดหมายไว้
ในศาลาขนาดกว้างราวเกือบ 10 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตรกว่า ด้านข้างโปร่ง ศาลาแห่งนี้รายล้อมไปด้วยต้นหูกระจงเล็ก-ใหญ่ จำนวนมาก ภายในมีโต๊ะหินวางพร้อมเก้าอี้เรียงราย มีสภาพดูเหมือนใช้เป็นที่ประชุมพบปะของชาวบ้าน ครั้นเมื่อทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านเดินทางไปถึง ได้ถูกดัดแปลงเพื่อตั้งเป็นวงสนทนาพร้อมกับชาวบ้านในละแวกนั้นเกือบ 30 คน ที่ให้ความสนใจต่างเดินทางมาพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง
ผู้แทนชาวบ้าน ที่มาพูดคุยในคราวนั้น มีจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ คุณบุญเรือง มหานิยม บ้านเลขที่ 10 หมู่ที่ 9 ตำบลระโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ (081) 853-9956 คุณจอง ลาภกระโทก บ้านเลขที่ 23/6 หมู่ที่ 9 ตำบลระโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ (081) 282-3302 และ คุณจันดา ฉากกิ่ง บ้านเลขที่ 8/6 ตำบลระโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์ (082) 198-1405 นอกจากนั้น ยังได้รับเกียรติจาก คุณสุนทร อินทสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้เดินทางมาร่วมให้ข้อมูลกับทีมงานด้วย
เริ่มจากเสาะหาเมล็ดพันธุ์ไม้ป่า
ตามหัวไร่ ปลายนา หรือแม้แต่ริมทาง
คุณ บุญเรือง มหานิยม ในฐานะผู้ริเริ่มและมีบทบาทด้านการเพาะกล้าไม้ป่าของชุมชนแห่งนี้ อีกทั้งเป็นผู้หนึ่งในไม่กี่รายที่มีพื้นที่เพาะกล้าไม้ป่าจำนวนมากได้กล่าว เปิดประเด็นการคุยว่า อาชีพนี้มีมานานกว่า 20 ปี เดิมทีชาวบ้านในตำบลระโสมนี้มีอาชีพทำนากัน และมีอาชีพเสริมด้วยการเพาะกล้าไม้ป่า แต่ทุกวันนี้กลับกลายมาทำเป็นอาชีพหลักในจำนวน 40 กว่าครัวเรือน ซึ่งทำกันมากในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ของตำบลระโสมเป็นหลักและมากที่สุด ทำกันทุกหลังคาเรือนมากบ้างน้อยบ้างตามแต่ทุนทรัพย์ บ้านละ 1-2 งานก่อน
จาก จุดเริ่มต้นของการเพาะกล้าไม้ป่าที่มาจากนายทหารท่านหนึ่ง สังกัดกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งได้เดินทางมาพักกับญาติ ที่มีบ้านพักในภูมิลำเนาแห่งนี้ เมื่อทหารท่านนั้นเห็นว่ามีดินและน้ำอุดมสมบูรณ์เลยทดลองนำเมล็ดไม้ป่ามา เพาะรวมกับไม้ประดับขนาดเล็ก จนกระทั่งนำมาเป็นตัวอย่างให้คุณบุญเรืองมองเห็นว่าน่าเป็นอาชีพที่ดีเลยทำ บ้างตอนเริ่มต้นของคุณบุญเรืองเพาะไม้ป่าทุกชนิด อย่าง คูน แคนา พะยูง พะยอม ยางนา ตะเคียน ประดู่ ตะแบก อินทนิล เป็นต้น โดยเสาะหาตามป่าทั่วไป ตามหัวไร่ปลายนา ตามวัดเก่าแก่ หรือตามข้างทาง บางส่วนได้สั่งซื้อมาจากทางกรมป่าไม้ และมักเน้นไม้ขนาดใหญ่ เขาเริ่มจากพื้นที่เพียง 1 งานก่อน แล้วค่อยขยายออกไป จนทุกวันนี้มีพื้นที่รวมทั้งหมด 12 ไร่
เพาะไม้ป่าที่เป็นกระแส
สร้างรายได้เป็นอย่างดี
การ ทำอาชีพหลายอย่างอาจต้องดูกระแสผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากความนิยมของกลุ่มลูกค้าจะเป็นตัวผลักดันราคาและจำนวนสินค้า ให้มียอดขายสูง จึงไม้เว้นแม้แต่การเพาะกล้าไม้ป่า เพราะคุณบุญเรืองมองว่าหลายปีที่ผ่านมากระแสความนิยมไม้ป่าที่เป็นไม้ประดับ อย่าง หูกระจง กำลังเริ่มแผ่ขยายมากขึ้น ดังนั้น เขาจึงหันมาให้ความสำคัญต่อการเพาะ-ขยายพันธุ์ต้นหูกระจงอย่างจริงจังและ หลากหลาย
คุณบุญเรือง มักไปเก็บเมล็ดหูกระจงตามวัดเก่าแก่ โดยจ้างเด็กวัดหรือคนในวัดให้เก็บมาขาย จากนั้นจึงนำมาเพาะ และเพียงไม่กี่ปีสวนของเขามีต้นหูกระจงมากกว่าพันธุ์ไม้ป่าชนิดอื่น ทั้งจำนวนและชนิด ซึ่งต้นหูกระจงแบ่งเป็นพันธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ แคระ ด่าง และเขียว ทั้งนี้พันธุ์เขียวจะขายดี เพราะไม่แพง ส่วนพันธุ์ด่างทำยาก ราคาจึงสูง
ด้านการจำหน่าย สวนของคุณบุญเรืองนอกจากจะมีลูกค้าขาประจำเดินทางมาเลือกซื้อต้นไม้เป็น นิตย์แล้ว เขายังเดินทางนำต้นไม้ไปส่งให้แก่ลูกค้าตามจังหวัดต่างๆ ที่มียอดการสั่งด้วย ความนิยมหรือการเป็นที่รู้จักของลูกค้ามากมายหลายแห่งนั้นเป็นผลมาจากการบอก ต่อ ทั้งนี้คนขายต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เป็นลูกค้ามักจะมีแผงขายต้นไม้ตามสถานที่ ใหญ่ๆ เท่านั้น
"การเสาะหาพันธุ์ไม้มาเพาะขายจะทำอยู่ตลอดทั้งปี สำหรับแหล่งหาถ้าเป็นภาคเหนือมักเป็นไม้พะยูง พะยอม ยางนา ถ้าเป็นแถวภาคอีสาน จะเป็นไม้ประเภท ไม้แดง กันเกรา ไม้เต็ง ไม้รัง สำหรับพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด อย่างไม้แดงใช้เวลานานเกือบ 3 เดือน ถ้าเป็นไม้มะค่าจะเร็ว โดยใช้เวลาเพียงเดือนครึ่งที่มีขนาดต้นสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร สามารถขายได้แล้ว" คุณบุญเรือง ให้รายละเอียด
คุณบุญเรือง บอกว่า เงินที่ใช้ลงทุน ของเขาใช้ไร่ละแสนกว่าบาท เป็นเงินลงทุนรวมทุกอย่าง สวนของเขา จำนวน 12 ไร่ มีเงินหมุนเวียนปีละ 4-5 ล้านบาท และทุนที่ใช้มากจะเป็นเรื่องของการซื้อกล้าไม้
การเพาะกล้าไม้ป่า ขายสำหรับชุมชนชาวบ้านแห่งนี้มีการตกลงเพื่อจำแนกเป็นรุ่นหรือขนาดเบอร์ สำหรับบรรจุใส่ถุงดำ สำหรับใช้เป็นเกณฑ์กำหนดราคา และปัจจุบันมี จำนวน 4 เบอร์ 4 ขนาด ได้แก่ ถุงหลอด (เล็กสุด), เบอร์ 3, เบอร์ 5 และเบอร์ 7 สำหรับราคาขายแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ถึงแม้จะเป็นถุงเบอร์เดียวกัน ทั้งนี้ มาจากความแตกต่างของพันธุ์ไม้แต่ละชนิดว่าทำง่าย/ยาก มากแค่ไหน หรือแม้แต่บางชนิดที่มีขนาดเดียวกัน แต่ราคาสูงกว่า เพราะปลูกยาก อย่างต้นพะยูง พะยอม หรือ ยางนา
คุณบุญเรือง บอกว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าเพาะต้นกล้าขนาดถุงหลอด จะได้จำนวนถึงแสนกว่าต้น กรณีเป็นถุงเบอร์ 7 ในพื้นที่เท่ากันสามารถวางต้นไม้ได้ประมาณ 5,000 ต้น ทั้งนี้ ระยะการวางต้นอยู่ที่ความเหมาะสม แต่มักห่างกัน ต้นละ 40 เซนติเมตร
"อย่าง ยางนา ถ้าเป็นขนาดถุงหลอด ราคาถุงละ 5 บาท พะยูง ราคาถุงละ 5 บาท และต้นคูน มีราคาเพียงถุงละ 2 บาท ถ้าเป็น เบอร์ 5 ราคาขายถุงละ 15 บาท แต่ถ้าเป็นพันธุ์หูกระจง เบอร์ 5 ขายราคาถุงละ 40-50 บาท อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับทุนที่ทำ เพราะถ้ามีทุนมากก็สามารถเพาะ-ขยายต้นที่มีขนาดใหญ่ได้ เพราะมีราคาขายสูงกว่าต้นเล็ก
แต่สำหรับบางรายที่มีทุนน้อยอาจทำไม่ กี่ขนาด อีกทั้งความต้องการของลูกค้าที่สั่งมา อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งราคาขาย อย่างกล้าไม้ที่มีขนาดเล็กถึงกลาง มักช่วยทำกันในครอบครัว" คุณบุญเรือง เพิ่มเติม
คุณจอง ลาภกระโทก เป็นชาวบ้านอีกคนที่มายึดอาชีพการเพาะกล้าไม้ป่าหารายได้มา 15 ปี ความจริงคุณจองไม่ได้เป็นคนพื้นที่ระโสม แต่เขาเป็นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่โคราช และมีอาชีพทำนาอยู่ที่นั่น กระทั่งการทำนาล้มเหลว คุณจองไม่สามารถยึดอาชีพทำนาได้ต่อไป จึงทำให้เขาตัดสินใจเดินทางมาพบคุณบุญเรืองเพื่อช่วยงานเพาะกล้าไม้ป่า ตั้งแต่คราวนั้นและเมื่อเวลาผ่านไปคุณจองสามารถเรียนรู้ได้ชำนาญแล้วเลยแยก ตัวออกมาทำเอง ด้วยเนื้อที่ปลูกเริ่มต้น จำนวน 2 งาน
สำหรับคุณจองจะ เพาะเมล็ดพันธุ์เอง จึงทำให้เขาไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อต้นกล้า คงเป็นการลงทุนสำหรับทำแปลงเพาะ ทั้งนี้เงินทุนส่วนใหญ่มักไปหนักที่อุปกรณ์และวัสดุปลูก อย่างแกลบ ขี้เถ้า ที่จะต้องซื้อใส่รถสิบล้อมาครั้งละ 5,000 บาท ต่อคัน ถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนมากไปบ้าง แต่ในระยะยาวสามารถคืนทุนได้รวดเร็ว และที่สำคัญเขาบอกว่ามีรายได้ดีกว่าการทำนา และปัจจุบันคุณจองมีพื้นที่เพาะกล้าไม้ป่า จำนวน 2 ไร่ เขาคาดว่าอีกไม่นานคงต้องขยายพื้นที่
คุณจอง เพาะกล้าไม้ป่าหลายชนิดเหมือนกับคุณบุญเรือง เขาบอกว่าถ้าเป็นต้นไม้ถุงขนาดเล็กหรือที่เรียกถุงหลอด ใช้เวลาปลูกประมาณ 45 วัน แต่ถ้าเป็นไม้ขนาดใหญ่ อย่าง หูกระจง อาจต้องใช้เวลาปลูกราวปีเศษ
สำหรับ การขายพันธุ์ไม้เหล่านี้ คุณจอง เปิดขายอยู่หน้าบ้าน โดยจะมีลูกค้าขาประจำมาติดต่อซื้อ อีกทั้งเขายังนำพันธุ์ไม้หลายชนิดออกไปส่งให้แก่ลูกค้าที่สั่งจองด้วยเช่น กัน
ด้าน คุณจันดา ฉากกิ่ง เดินทางมาจากโคราชเช่นกัน ก่อนหน้าที่จะทำเอง เธอมาเป็นลูกจ้างพี่เขย (คุณบุญเรือง) เพื่อทำต้นไม้ เช่น เข็นแกลบ ดิน พร้อมกับช่วยผสมดิน ครั้นพอมีความเข้าใจดีจึงแยกออกมาทำ ในพื้นที่ 1 ไร่ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ลักษณะการทำต้นไม้ป่าของคุณจันดา จะต่างกับคุณบุญเรืองและคุณจอง ตรงที่เธอไม่ได้เพาะต้นกล้า แต่จะไปรับต้นกล้าจากแหล่งต่างๆ ทั้งในพื้นที่เดียวกันหรือจากจังหวัดอื่นเพื่อนำมาขายต่อ เป็นลักษณะเลี้ยงต่อยอดให้โตขึ้น เพื่อจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าต้นขนาดเล็ก
ตลาดไม้พะยูงกำลังตื่นตัว
คุณ จันดา บอกว่า ขายกล้าไม้ป่าหลายชนิด ในแต่ละวันต้องดูแลเอาใจใส่ต้นไม้ทุกต้นอย่างเต็มที่ ทั้งการรดน้ำ การใส่ปุ๋ยและดูแลดิน หรือศัตรูพืช เพราะถ้าต้นไม้โทรมจะทำให้ไม่มีลูกค้ามาซื้อและขาดรายได้ สำหรับต้นไม้ป่าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ ต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือต้นซากุระเมืองไทย ซึ่งเป็นต้นไม้ทางเหนือ เหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นไม้ที่อ่อนแอและบอบบางมาก โดนแดดมากก็ไม่ได้ จึงต้องคอยใส่ใจกันมากหน่อย
เมื่อถามว่า ขณะนี้ไม้ป่าชนิดใดที่กระแสมาแรง เธอบอกว่าตลาดต้นพะยูงกำลังตื่นตัว เนื่องจากลูกค้ามาซื้อเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ปลูกตามโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานราชการและเอกชนจัดขึ้น ส่วนพันธุ์ไม้ที่ขายลำดับรองลงมา ได้แก่ ชิงชัน ตะเคียนทอง และสักทอง ตามลำดับ
แล้วบอกต่ออีกว่า การซื้อมาแล้วขายไปเป็นวิธีที่ดี เพราะถึงแม้อาจจะได้ราคาไม่สูงนัก แต่เมื่อเทียบกับความยุ่งยากในการดูแลรับผิดชอบแล้วถือว่าคุ้มกว่า
สำหรับ ส่วนผสมวัสดุปลูกพันธุ์ไม้ป่าของชาวบ้านแต่ละรายไม่เหมือนกัน และเป็นสูตรที่แต่ละรายจะพิจารณาความเหมาะสมกันเอง แต่จะเน้นให้เบาและสามารถขนส่งได้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ต้นไม้แต่ละชนิดจะใช้ปุ๋ยต่างกัน และปุ๋ยที่ใช้เป็นประจำคือ ปุ๋ยเร่งต้น เร่งใบ
คุณบุญเรือง ยกตัวอย่างการดูแลต้นพะยูงว่า ปุ๋ยชนิดแรกที่ต้องใส่ เป็นปุ๋ยน้ำตาล สูตร 21-0-0 ซึ่งจะต้องมีกำมะถันที่จะช่วยไม่ให้เหลือง จากนั้นต้องใช้ฮอร์โมนฉีดพ่น พะยูงเป็นไม้ที่ชอบดินมาก ไม่ชอบแกลบและขี้เถ้า
เมื่อถามว่า อายุต้นกล้าขนาดเท่าไรที่ตลาดต้องการ คุณบุญเรืองให้รายละเอียดว่าไม่แน่นอน ทั้งนี้แล้วแต่รสนิยมความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว ที่ขายอยู่จะมีความสูงอยู่ประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยใช้เวลาดูแลประมาณเดือนกว่า
กระแสความนิยมไม้ป่าที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายคนบอกเหมือนกันว่า ขึ้นอยู่กับกระแสแต่ละช่วงมากกว่า ทั้งนี้ เพราะไม้ที่เป็นกระแสจะขายได้ในราคาสูง แต่ขณะเดียวกันไม้ชนิดอื่นก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ทั้งนี้กระแสความนิยมไม้ป่าจะกลับไป-มา
เปิดขายทั้งหน้าบ้าน
และนำไปส่งให้ลูกค้า
ตามจังหวัดต่างๆ
การ ขายกล้าพันธุ์ไม้ป่าของชาวบ้านมีทั้งลูกค้าเดินทางมาเลือกซื้อเองที่สวน ซึ่งชาวบ้านแต่ละรายจะมีขาประจำเป็นของตัวเอง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านจะต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาต้นกล้าให้มีความสมบูรณ์และ แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อป้องกันลูกค้าขาประจำหนีไปที่อื่น
แต่ สำหรับรายที่มีทุนมากสักหน่อยอาจสร้างโอกาสให้เพิ่มขึ้นด้วยการดูแลต้นไม้ ให้มีหลายขนาดและหลายประเภท ทั้งนี้เพื่อส่งป้อนตลาดขายต้นไม้ป่าในจังหวัดอื่น คุณบุญเรือง ให้รายละเอียดว่าจะส่งตามร้านขายต้นไม้ อย่างแถว ปราจีนบุรี ขอนแก่น เลย และอีกหลายจังหวัด
เขาอธิบายว่า ลูกค้าเหล่านี้ตอนแรกจะเดินทางมาดูสวนด้วยตัวเองก่อน เมื่อถูกใจจะติดต่อให้ไปส่งตามรายการและจำนวน ทั้งนี้แต่ละแห่งจะแจ้งรายการและจำนวนมาไม่ตรงเวลากัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องออกเดินทางไปส่งเกือบทุกวัน ทั้งนี้ การกำหนดราคาขายจะต่างกันอยู่ ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมูลค่าที่ขายได้แต่ละครั้งต่อเที่ยวรถกระบะประมาณ 20,000 บาท สามารถบรรทุกได้ครั้งละประมาณ 400 ต้น ซึ่งถ้าหักทุนแล้วจะได้กำไรประมาณครึ่งหนึ่ง
สภาพอากาศในแต่ละปี
มีผลต่ออาชีพนี้หรือไม่??
มี ชาวบ้านหลายคนให้คำตอบว่า ในช่วงฤดูฝนจะขายดี พอหมดฝนแล้วจะเงียบประมาณช่วงเดือนสิงหาคมไปแล้ว ส่วนหน้าแล้งมักเป็นเวลาที่ต้องมีการเตรียมต้น บำรุงต้น แต่ฤดูที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไม้ป่าคือช่วงหน้าหนาว อย่างไรก็ตาม หากตลาดเงียบเกินไปอาจต้องนำออกไปขายด้านนอก เพราะเป็นการระบายต้นไม้
ถ้ามีผู้สนใจ
ต้องการทำอาชีพนี้บ้าง
ควรแนะนำอย่างไร??
คุณ จอง บอกว่า สำหรับการเริ่มต้นอาจใช้เนื้อที่เพียง 1-2 งาน ก่อนก็ได้ และควรเลือกไม้ที่ตลาดต้องการ ควรเป็นไม้ที่ง่ายต่อการดูแล อีกทั้งควรมองหาตลาดรองรับไว้ด้วย สำหรับไม้ที่เขาคิดว่าเสี่ยงน้อยที่สุดคือ แคนา แคป่า ซึ่งใช้เวลาปลูกเพื่อขายเพียง 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน เป็นไม้ที่ตลาดมีความต้องการอยู่ตลอดเวลา ไม่ตกยุค แล้วยังนิยมใช้เป็นไม้ประดับอย่างไรก็ตาม หากมีใครสนใจต้องการทำอาชีพนี้ ทางกลุ่มชาวบ้านทุกคนยินดีให้ความรู้ ถ้ามีใครต้องการหาความรู้ ที่ผ่านมามีหลายโรงเรียนติดต่อเข้ามาดูงานพร้อมกับให้สอนเกี่ยวกับขั้นตอน การเพาะกล้าไม้ด้วย
ทั้งนี้ คุณจอง ยังบอกถึงเหตุผลที่ลูกค้านิยมมาซื้อต้นกล้าจากที่นี่ เพราะมีราคาถูกกว่าหลายแห่ง มีพันธุ์ต้นไม้ป่าให้เลือกได้มากมาย ที่สำคัญต้นไม้ที่เพาะขายที่ ตำบลระโสม แห่งนี้มีตลอดทั้งปี ให้สภาพที่สมบูรณ์และสวยงาม ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์
เมื่อ ปี 2554 เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เกิดอะไรกับพื้นที่แห่งนี้บ้าง?? คุณบุญเรือง เล่าว่า สภาพน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 ในครั้งนั้นทุกบ้านเสียหายหมด กล้าต้นไม้ที่เพาะไหลไปกับกระแสน้ำ คงเหลือแต่ถุงให้เห็นเท่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่ละครอบครัวมีมาก-น้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ปลูกและพื้นที่รับน้ำ
แต่สำหรับ คุณบุญเรือง บอกว่า คราวนั้นหมดไปกับการฟื้นฟูด้วยเงินถึง 700,000 กว่าบาท และใช้เวลา 3 ปี ถึงกลับมาขายได้ แต่ทั้งนี้สามารถขายได้เงินและคืนทุนค่าฟื้นฟูกลับในเวลาเพียงไม่ถึงปีเท่า นั้น
ผู้ใหญ่บ้านระบุ...ยังเป็นอาชีพ
ที่สร้างงาน สร้างเงิน ได้อีกนาน
ผู้ใหญ่ บ้านสุนทร อินทสุวรรณ กล่าวถึงการสร้างงานจากอาชีพเพาะกล้าไม้ป่าของลูกบ้านว่า ส่วนใหญ่ทำอยู่รวมกันใน หมู่ที่ 9 ที่มีพื้นที่รวมทั้งหมด ประมาณ 900 ไร่ มีชาวบ้านทำอาชีพนี้ ประมาณ 45 ครัวเรือน และมักทำกันภายในครอบครัว ซึ่งถ้ารวมพื้นที่น่าจะประมาณ 50 ไร่
การทำอาชีพนี้แต่ละรายทำ มาก-น้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับทุน และความที่เป็นอาชีพที่ไม่ยุ่งยากมาก ดังนั้น สมาชิกในครอบครัวจึงช่วยกันทำ อีกทั้งคาดว่าในอนาคตคงมีคนทำอาชีพนี้เพิ่มมากขึ้นอีก สำหรับเรื่องงบประมาณบางส่วนได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากทาง อบต.
ผู้ใหญ่ บอกว่า ความจริงตั้งใจอยากจะให้ชาวบ้านทุกรายที่มีอาชีพเดียวกันนี้รวมตัวกันเป็น กลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการขาย หรือมีอำนาจต่อรองในบางคราว เพราะที่ผ่านมาแต่ละรายมักจะทำกันเอง
อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่า คงเป็นเรื่องลำบากเพราะแต่ละรายต้องการขายในราคาที่พอใจมากกว่า เนื่องจากการมีราคากลางอาจทำให้บางรายขายยากแล้วขาดรายได้
ทางด้าน ตลาดจำหน่ายที่ผ่านมามักได้รับการสั่งจองจากหน่วยงานราชการและเอกชนเป็น จำนวนมาก เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ และคาดว่ามีรายได้ประมาณกว่า 10 ล้านบาท ในแต่ละปี
ท้ายสุด ตัวแทนทั้ง 3 คน พร้อมกับกลุ่มชาวบ้านต่างยอมรับว่าตลาดต้นไม้ลักษณะนี้ยังมีความต้องการอยู่ ยิ่งขณะนี้มีตลาดต่างประเทศ อาทิ ทางมาเลเซีย สนใจสั่งนำเข้าอีก ยิ่งทำให้มั่นใจว่ายังสามารถสร้างรายได้อีกนาน เพียงแต่ย้ำว่าต้องอดทน และขยันเท่านั้นที่จะทำให้มีรายได้ที่ดี
ภายหลังจากเสร็จสิ้นการพูด คุย ชาวบ้านได้พาทีมงานออกเดินตามสวนที่บ้านแต่ละหลัง ได้มีการเพาะกล้าไม้ป่า ซึ่งพบว่าทุกหลังมีการจัดระเบียบการทำงานอย่างเป็นระบบ ทุกสวนจัดได้อย่างมีระเบียบ สะอาด คล้ายกับกำลังเดินอยู่ที่ตลาดนัดขายต้นไม้ ภาพที่เห็นการร่วมมือกันของครอบครัวในแต่ละหลังจึงยืนยันได้ว่าอาชีพเพาะ กล้าไม้ป่าของชาวบ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลระโสม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงทำรายได้ที่ดีให้กับพวกเขาจริง...
สนใจอุดหนุนกล้าพันธุ์ไม้ป่า หรือพันธุ์ไม้หายาก ลองติดต่อได้ที่ คุณบุญเรือง/คุณเดือน โทรศัพท์ (081) 853-9956
แล้วอย่าลืมพบกับเทคโนฯ เสวนาสัญจร ที่สรรหาอาชีพทางการเกษตรที่น่าสนใจในคราวต่อไป
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น