วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ภูมิปัญญาเกษตร 4,5,7,9 ชั้น


 เอามาจาก..ขอบคุณครับ

http://www.monmai.com/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9C%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99/

 

ภูมิปัญญาเกษตร 4,5,7,9 ชั้น


kaset4579 การปลูกพืชเป็นลำดับชั้นในพื้นที่เดียวกัน ใช้หลักการค้นหาองค์ความรู้จากภูมิปัญญา การทำเกษตร ของคนสมัยก่อน  ได้ซึ่งพัฒนาจากการเรียนรู้เกี่ยวกับชั้นเรือนยอดของป่าไม้ ลักษณะและธรรมชาติของต้นไม้  โดยใช้ความจริงที่ว่าพืชไม่ว่าจะเป็นต้นเล็กต้นใหญ่ ใน ธรรมชาติจะมีการอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต้นไม้เล็กจะได้ปุ๋ยจากต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่อาศัยต้นไม้เล็กในการคลุมดินเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น เป็นการปลูกพันธุ์ไม้ให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ  เพื่อประโยชน์ต่อความสมดุลของระบบนิเวศ  ใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   ซึ่งจัดอยู่ในการเกษตรประเภทเกษตรผสมผสาน  โดยเน้นการปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ร่วมกันในแปลงเดียวกัน  แต่มีความสูงต่างระดับกัน  จะทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง  เช่น  ทำให้ได้ประโยชน์จากพื้นที่ทุกตารางเมตร  ประหยัดแรงงานในการดูแลรักษา  ต้นทุนการผลิตไม่มากนัก  ที่สำคัญได้ผลผลิตจากพืชหลายชนิดขึ้น  ซึ่งภูมิปัญญาการปลูกพืชเป็นลำดับชั้นสามารถนำไปในใช้ได้จริง  เช่น   ภูมิปัญญาเกษตร 4 ชั้น  ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น  ภูมิปัญญาเกษตร 7 ชั้น ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น
ในสังคมพืชจะมีการจัดชั้นในแนวดิ่ง  (Vertical stratification)  ซึ่งเป็นการจัดชั้นที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยของแสง  ที่มีผลทำให้เกิดความเหมาะสมต่อรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกัน  ดังนี้
การแบ่งชั้นเรือนยอด
วิธีการแบ่งชั้นเรือนยอดใช้หลักเกณฑ์เกือบจะเหมือนกันแทบทุกประเทศ ที่ใช้กันมากในประเทศสหรัฐฯ คือ

  1. เรือนยอดชั้นบน หรือชั้นไม้เด่น (Dominant) ไม้จำพวกนี้จะมีเรือนยอดสูงกว่าระดับของพุ่มเรือนยอดของพืชอื่นทั้งหมด เพราะฉะนั้นเรือนยอดของพืชจะได้รับแสงเต็มที่ทั้งด้านบนและด้านข้าง ไม้พวกนี้จะโตกว่าไม้ในบริเวณเดียวกันและมีเรือนยอดเจริญดี
  2. เรือนยอดชั้นรอง หรือชั้นไม้รอง (Co-diminant) ไม้จำพวกนี้จะเป็นไม้ที่มีเรือนยอดอยู่ในระดับเดียวกับระดับของยอดไม้ทั้ง ป่า เพราะฉะนั้นแสงจะได้รับมากทางด้านบนของเรือนยอด ส่วนด้านข้างของเรือนยอดจะไม่ได้รับแสงหรือรับได้น้อยมาก ตัวเรือนยอดเองก็มักจะมีขนาดปานกลาง และมีเรือนยอดไม้ต้นอื่นเบียดเสียดอยู่ข้างๆ
  3. เรือนยอดชั้นกลาง หรือชั้นไม้กลาง (Intermediate) ไม้กลางนั้นจะมีเรือนยอดอยู่ต่ำกว่าระดับเรือนยอดของไม้ทั้งบริเวณ แต่อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่งของเรือนยอดได้รับ แสงโดยตรงจากข้างบนบ้างเล็กน้อย แต่ข้างๆเรือนยอดนั้นไม่ได้รับแสงเลย โดยปกติแล้ว “ไม้กลาง” จะมีเรือนยอดเล็กและถูกเบียดจากข้างๆหรือรอบๆมาก
  4. เรือนยอดชั้นล่างหรือไม้ล่าง (Over-topped) ไม้ล่างเป็นไม้ที่มีเรือนยอดต่ำกว่า ระดับเรือนยอดของไม้ ทั้งบริเวณ เรือนยอดจะไม่ได้รับแสงโดยตรงเลย ไม่ว่าจะทางบนหรือรอบๆเรือนยอด เมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชั้นเรือนยอดจากการสักเกตธรรมชาติของป่าแล้ว ประสบการณ์การปลูกพืชของเกษตรกรและความรู้เกี่ยวกับลักษณะและธรรมชาติของพืช เป็นอีกส่วนหนึ่งที่นำมาประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชเป็นลำดับชั้น ตัวอย่างความรู้เรื่องการจำแนกทางพืชสวน สามารถจำแนกได้หลายวิธี เช่น 1 การจำแนกทางสวนพืชโดยลักษณะลำต้น ได้แก่ ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย 2 การจำแนกโดยอาศัยลักษณะเฉพาะของพืชสวน ได้แก่ ไม้ผล ผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ 3 การจำแนกพืชโดยอาศัยการเจริญเติบโต พืชล้มลุก พืชสองฤดู พืชยืนต้น
การประยุกต์การปลูกพืชเป็นลำดับชั้นในปัจจุบัน
การปลูกพืชเป็นลำดับชั้นในปัจจุบันมีหลากหลายแนวคิด  ซึ่งได้พัฒนาจากการเรียนรู้เกี่ยวกับชั้นเรือนยอด  ลักษณะและธรรมชาติของต้นไม้ เช่น  ระบบการหยั่งรากของพืชที่ต่างกันทำให้ไม่แย่งอาหารกัน  ความต้องการแสงของพืชแต่ละชนิดไม่เท่ากันทำให้สามารถปลูกบริเวณใกล้เคียงกัน ได้ เป็นต้น เน้นหลักการที่ว่าพืชไม่ว่าจะเป็นต้นเล็กต้นใหญ่ ในธรรมชาติจะมีการอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ต้นไม้เล็กจะได้ปุ๋ยจากต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่อาศัยต้นไม้เล็กในการคลุมดินเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น ต้นไม้ใหญ่ช่วยพรางแสงให้กับต้นไม้บางชนิดที่อยู่ในระดับต่ำกว่า เป็นต้น ซึ่งภูมิปัญญาการปลูกพืชเป็นลำดับชั้น สามารถนำไปในใช้ได้จริง มีการจัดรูปแบบการปลูกพืชเป็นลำดับชั้นและเรียกรูปแบบนั้นๆ แตกต่างกันไป  ตามแนวคิดและประสบการณ์ของตนเอง  ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้
  •        ภูมิปัญญาเกษตร 4 ชั้น  (เกษตร 4 ชั้น, ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง)
  •        ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น  (เกษตรผสมผสาน 5 ชั้น, ปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ 5 ชั้น)
  •        ภูมิปัญญาเกษตร 7 ชั้น  (ปลูกต้นไม้ 7 ระดับ)
  •        ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น  (พืชคอนโด 9 ชั้น)
ภูมิปัญญาเกษตร 4 ชั้น
พงศา ชูแนม ให้ความหมายของเกษตร 4 ชั้น  ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว ให้เป็นเกษตรเชิงนิเวศ หรือเกษตรผสมผสาน ที่มีสภาพใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ โดยใช้หลักการค้นหาองค์ความรู้จากภูมิปัญญาการทำเกษตรของคนสมัยก่อน  และเทียบเคียงจากในป่าธรรมชาติซึ่งจะมีเรือนยอดต้นไม้อยู่ 3 ระดับ ได้แก่ เรือนยอดชั้นบน ชั้นกลาง ชั้นล่าง (ผิวดิน)  และรวมชั้นใต้ดินด้วย เป็น     4 ชั้น  ซึ่งพืชที่สามารถปลูกได้ในแต่ละชั้น  มีดังนี้

  1. ไม้เรือนยอดชั้นบน  ได้แก่ ไม้ที่ปลูกใช้เนื้อไม้ทำที่อยู่อาศัย เช่น ตะเคียนทอง  สัก ยางนาสะเดา  จำปาทอง ฯลฯ และไม้ที่ลำต้นสูงและที่ผลเป็นอาหารได้  เช่น  สะตอ เหรียง  กระท้อน  มะพร้าว หมาก ฯลฯ
  2. ไม้เรือนยอดชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นไม้เพื่อการกิน  ขาย  ใช้เป็นอาหารและสมุนไพร  เช่น  มะม่วง  ขนุน  ชมพู่  มังคุด  ไผ่   ทุเรียน  ลองกอง  ปาล์ม ฯลฯ
  3. ไม้ที่ปกคลุมผิวดิน ทั้งที่เป็นอาหาร  สมุนไพรและของใช้  เช่น กาแฟ  ผักป่าชนิดต่าง ๆ ชะพูล  มะนาว  หวาย  สบู่ดำ ฯลฯ
  4. พันธุ์พืชที่ใช้ประโยชน์จากส่วนที่อยู่ใต้ดิน (พืชหัว) เป็นพืชที่ปลูกเพื่อความพอเพียงในด้านการกิน ได้แก่  กลอย  ขิง ข่า  กระชาย  กระทือ ฯลฯ
การปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนกาแฟ จากที่มีพืชกาแฟเพียงอย่างเดียว ได้นำพันธุ์พืชที่มีชั้นเรือนยอดหลายชั้นมาปลูกผสมผสานลงไป ในสวนกาแฟ โดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่  ดังนี้
  1. มีสวนกาแฟเดิมอยู่ 10 ไร่ ก็มีรายได้จากกาแฟเพียงอย่างเดียวแค่ 10 ไร่ เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวจึงมีพื้นที่ทำกิน10 ไร่ เท่านั้น
  2. เมื่อนำเอาพันธุ์ไม้ เช่น สะตอปลูกลงไปในสวนกาแฟ 10 ไร่เดิมนั้นให้เต็มพื้นที่ ก็จะเสมือนมีพื้นที่ 20 ไร่ โดยต้นสะตอจะมีเรือนยอดสูงอยู่ชั้นบนเป็นชั้นที่ 1 (ชั้นบน)
  3. มีการปลูกหมากลงไปอีกในพื้นที่ 10 ไร่เดิมนั้น เสมือนมีพื้นที่ 30 ไร่  เป็นสวนกาแฟ 10 ไร่, สวนสะตอ 10 ไร่, สวนหมาก 10 ไร่ ซึ่งหมากและสะตอหรือไม้อื่น ๆ ที่ต้นใหญ่เป็นเรือนยอดชั้นบนเรียกว่า ชั้นที่ 1
  4. ใต้ต้นสะตอสามารถปลูกลองกอง, มังคุด, ลางสาด ลงไปได้อีก เป็นเรือนยอดชั้นที่ 2 เหมือนมีพื้นที่ 40-50 ไร่ เรียกว่าพืชชั้นที่ 2 (ชั้นกลาง)
  5. ใต้ต้นลางสาด,ลองกอง,ปลูกผักเหลียง, ผักหวาน และพืชสวนครัวอื่น ๆ เท่ากับเพิ่มพื้นที่เป็น 60-70 ไร่ และเป็นไม้เรือนยอดชั้นที่ 3 (ชั้นล่าง หรือชั้นผิวดิน)
  6. ใต้ดินสามารถปลูกพืชที่ใช้หัวเป็นอาหาร ได้แก่ กลอย ขิง ข่า ขมิ้น เพิ่มสัดส่วนได้อีกชั้นเป็นชั้นที่ 4 (ชั้นใต้ดิน) หรือเหมือนมีพื้นที่เป็น 80 ไร่ เป็นสวนกาแฟ 10 ไร่, สะตอ 10 ไร่, หมาก 10 ไร่, ลองกอง 10 ไร่, มังคุด 10 ไร่, ผักเหลียง 10 ไร่, ขิง ข่า ขมิ้น 10 ไร่, กลอย 10 ไร่ จากเดิมแค่ 10 ไร่
ซึ่งกระบวนการปลูกในรูปแบบดังกล่าวจะได้พันธุ์ไม้ที่เกิดป่า 3 อย่าง คือ ป่าเพื่อพออยู่ ป่าเพื่อพอกินและป่าเพื่อพอใช้ และจะได้ประโยชน์เพิ่มในด้านการรักษาสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม
ภูมิปัญญาเกษตร 5 ชั้น
เกษตรผสมผสานจากต้นแบบของนายมนู  มีชัย  เป็นเกษตร 5 ชั้น  มีการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่ระดับพื้นผิวดิน  โดยปลูกพืชหลากหลายชนิดให้อยู่ร่วมกัน ในแปลงเดียวกัน หลุมเดียวกัน แต่มีความสูงต่างระดับกัน  จะทำให้ได้ประโยชน์หลายอย่าง  ดังนี้

  • ชั้นที่ 1  คือชั้นสูงสุด ในกลุ่มนี้จะปลูกไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้น  ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ อีกทั้งเป็นการออมเพื่ออนาคตสำหรับตนเอง และลูกหลานโดยในสวนจะปลูกต้นยางนา สะแบง ประดู่ สัก กฤษณา เป็นหลัก
  • ชั้นที่ 2  คือ  ชั้นระดับกลาง เป็นชั้นที่มีความสูงเป็นรองกลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่พวกไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง มะขาม ลิ้นจี่ เงาะ ไผ่ เป็นต้น
  • ชั้นที่ 3  คือ  ชั้นระดับต่ำ เป็นการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่มีทรงพุ่มเตี้ย ได้แก่ ผักเม็ก ผักติ้ว มะกรูด มะนาว กระสัง กล้วย แก้วมังกร  เป็นต้น
  • ชั้นที่ 4 คือ  ชั้นระดับผิวดิน โดยจะปลูกพวกพืชผักสวนครัวเป็นหลัก เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ หอมเป (ชีฝรั่ง) สะระแหน่ บัวบก และพวกสมุนไพร เป็นต้น
  • ชั้นที่ 5  คือ ระดับชั้นใต้ดิน โดยจะปลูกพวกพืชหัว เพื่อเป็นอาหาร ได้แก่  มันสำปะหลัง มันเทศ
ภูมิปัญญาเกษตร 7 ชั้น
นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดอุตรดิตถ์ อธิบายเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ 7 ระดับ ใช้หลักเกณฑ์ของอายุพืชมาพิจารณาร่วมด้วย ดังนี้

  • ระดับที่ 1 ไม้ชั้นบนหรือไม้ยืนต้น อายุ 10 ปีขึ้นไปจึงจะใช้ประโยชน์ได้ เช่น ประดู่ ยางนา สัก มะค่า ถือเป็นไม้ที่สร้างบำเหน็จ บำนาญ และมรดก
  • ระดับที่ 2 คือไม้ชั้นกลาง อายุ 3 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นไม้ผล รวมถึงพืชพลังงาน อาทิ มะม่วง ลำไย กระท้อน ขนุน
  • ระดับที่ 3 ไม้ทรงพุ่ม อายุ 1 ปีขึ้นไป เช่น มะนาว มะละกอ มะเขือพวง กล้วย
  • ระดับที่ 4 พืชหน้าดิน ได้แก่ พืชผักสวนครัว
  • ระดับที่ 5 พืชหัว คือพวกที่อยู่ใต้ดิน ประเภท ขิง ข่า กระชาย เผือก มัน
  • ระดับที่ 6 พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด บัว
  • ระดับที่ 7 พืชเกาะเกี่ยวจำพวกตำลึง มะระ ถั่วฝักยาว บวบ ฯลฯ
ต้นไม้ทั้ง 7 ระดับเราสามารถปลูกไว้ในพื้นที่เดียวกันโดยใช้หลักการระบบนิเวศป่า โดยประโยชน์ 5 อย่างที่จะได้รับ คือ
  1. อาหาร
  2. พืชสมุนไพรเป็นยา
  3. ได้เงิน เมื่อปลูกไว้มากเกินก็ขายได้
  4. ได้ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้านเฟอร์นิเจอร์ ทำวงกบ ประตู หน้าต่าง
  5. เกิดระบบนิเวศที่ดี ได้พื้นที่สีเขียว ซึ่งถ้าเราเริ่มปลูกวันนี้ ต้นไม้จะกลายเป็นบำเหน็จบำนาญและมรดกของชีวิต
ประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น ปัจจุบัน เรามีอายุ 45 ปี ปลูกต้นยางนาซึ่งเป็นต้นไม้พลังงาน จำนวน 3,000 ต้น อีก 15 ปีข้างหน้ามีอายุ 60 ปี ต้นยางนาเหล่านี้ก็เติบโต มีความสูงไม่ต่ำ กว่า 15 เมตร นำมาแปรรูปเป็นไม้ได้ต้นละไม่ต่ำกว่า 2 ยก ถ้าราคายกละ 15,000 บาท ก็เท่ากับเกิดสินทรัพย์ถึง 90 ล้านบาท หากอยากได้บำเหน็จก็แค่ตัดต้นยางนาเหล่านี้ไปแปรรูปขาย แต่ถ้าอยากได้บำนาญ ต้นยางนาก็ยังให้น้ำยางถึงต้นละ 30 ลิตร/ปี รวม 3,000 ต้น ได้ 90,000 ลิตร/ปี นำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลขายได้ นอกจากนี้ยังเป็นมรดกให้ลูกหลานใช้เป็นหลักทรัพย์ในอนาคตได้
ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น
ภูมิปัญญาเกษตร 9 ชั้น หรือการปลูกพืชคอนโดฯ 9 ชั้น เป็นแนวคิดของคุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ หรือลุงนิล  ซึ่งได้มีการพัฒนาแนวคิดการปลูกพืชเป็นลำดับชั้นให้มีกิจกรรมทางการเกษตรมาก ขึ้น  ก่อให้เกิดรายได้ที่มากขึ้นตามไปด้วย  ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 คือ การขุดบ่อเลี้ยงปลา พร้อมกับปลูกพืชน้ำอย่างผักกระเฉด ผักบุ้ง บัว
  • ชั้นที่ 2 คือ การปลูกพืชจำพวกกลอย มัน  หอม และพืชตระกูลหัวทั้งหมด เช่น ขมิ้น กระชาย
  • ชั้นที่ 3 ปลูกพริกหน้าดิน และผักเหลียง
  • ชั้นที่ 4 ปลูกส้มจี๊ด
  • ชั้นที่ 5 ปลูกกล้วยเล็บมือนาง
  • ชั้นที่ 6 ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง
  • ชั้นที่ 7 ปลูกสะตอ มังคุด ลองกอง โดยทุกต้นจะปลูกพริกไทยดำให้เลื้อยขึ้นไปบนต้นเพื่อเป็นรายได้เสริมด้วย
  • ชั้นที่ 8 เป็นส่วนของธนาคารต้นไม้ ที่ปลูกไว้กิน ไว้ใช้ ไว้จำหน่ายพันธุ์ไม้ให้สมาชิก
  • ชั้นที่ 9 ปลูกไม้ยางนา 30 ต้น สูงต้นละประมาณ 40-50 เมตร
ในสวนนี้จะมีรายได้จากการขายทุเรียนที่เป็นรายได้หลัก  มีรายได้จากพืชต่างๆ ที่ปลูกแซมเข้าไปในสวน นั่นคือ กลอย สามารถขายได้ปีละประมาณ 1 แสนบาท  กระชายปีละประมาณ 4 ตัน ส้มจี๊ดมีรายได้วันละประมาณสองพันบาท กล้วยเล็บมือนาง จะตัดสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 ตัน ราคากิโลกรัมละ5 บาท และพริกไทยดำที่ฝากไว้ตามต้นมังคุด ต้นสะตอ ต้นลองกอง สามารถขายได้ปีละประมาณ 3 แสนบาท
ขั้นตอนการเริ่มดำเนินการปลูกพืชเป็นลำดับชั้น
จัดการความรู้ของตัวเอง
  • 1.1  ศึกษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ว่า  สภาพอากาศ  ดิน  น้ำ  เป็นอย่างไร
  • 1.2  ศึกษาธรรมชาติของพืชแต่ละชนิดว่ามีระบบรากอย่างไร ทรงพุ่มเป็นอย่างไร เมื่อปลูกร่วมกันแล้วจะบังแสงกันหรือไม่ ความต้องการน้ำและธาตุอาหารเป็นอย่างไร เมื่อปลูก แล้วพืชสามารถอยู่ร่วมกันได้ ได้ผลผลิตหลายชนิด ได้กินและขายเพิ่มรายได้
เลือกต้นไม้ที่จะปลูกว่า ควรจะปลูกต้นอะไร   ให้ยึดหลักการใช้ประโยชน์ของตนเองเป็นสำคัญ  โดย คำนึงถึงประโยชน์พื้นฐานที่จะได้รับ  5 อย่าง คือ
  • 1) อาหาร
  • 2)  พืชสมุนไพรเป็นยา
  • 3)  ก่อให้เกิดรายได้ (เมื่อปลูกมากเกินก็ขายได้)
  • 4)  ได้ไม้ใช้สอย
  • 5)  เกิดระบบนิเวศที่ดี  ได้พื้นที่สีเขียว
วางแผนการปลูกพืชอย่างรอบคอบ  แล้วจึงตัดสินใจในการดำเนินการ
หลักการปลูกพืชเป็นลำดับชั้นอย่างยั่งยืน   ยึดหลักสำคัญ 4 อย่าง คือ
  • 1  ปลูกไม้ประจำถิ่น  เพราะพืชแต่ละชนิดกำเนิดในถิ่นฐานใดก็จะเจริญเติบโตดี ในสภาพดิน ฟ้า อากาศของท้องถิ่นนั้น
  • 2  ปลูกพืชหลากหลายชนิด
  • 3  ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในสวน
  • 4  ไม่เผาเศษพืช วัชพืชในสวนจะปล่อยให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย และนำไปทำปุ๋ยหมักคืนสู่ธรรมชาติให้กับดิน
การปลูกพืชโดยยึดหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ   ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ร่วนซุย ไส้เดือนดิน จุลินทรีย์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ดินนุ่ม ไม่แข็งกระด้าง พืชเจริญเติบโตดี
ประโยชน์ของการทำเกษตรโดยปลูกพืชเป็นลำดับชั้น
  1. สร้างและรักษาภูมิปัญญา  เป็นการรวบรวมองค์ความรู้มาสร้างนวัตกรรมการเกษตรที่เป็นแบบฉบับของตนเอง ถือเป็นภูมิปัญญาอันสำคัญ
  2. ลดการบุกรุกแผ้วถางป่า  คือ  เมื่อเกษตรกรปลูกพืชเป็นลำดับชั้น สามารถเพิ่มพูนผลผลิตให้ได้มากขึ้น หลากหลายขึ้นเสมือนมีพื้นที่มากขึ้น จึงทำให้ไม่ต้องขยายพื้นที่เพิ่มเติม
  3. ลดการใช้สารเคมี การปลูกพืชเป็นลำดับชั้น ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี  ระบบจะเกื้อกูลให้อยู่กันได้ตามธรรมชาติ ส่งผลให้ผู้ทำเกษตร ห่างไกลจากสารเคมีได้อย่างยั่งยืน
  4. การเพิ่มพื้นที่ป่า  เป็นแหล่งรวมของพืชพรรณหลากหลายชนิด หลากหลายชั้นเรือนยอดมีสภาพนิเวศใกล้เคียงกับป่าธรรมชาติ  ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้นด้วย
  5. การสะสมสายพันธุ์พืช  สามารถนำสายพันธุ์พืชจากหลายแห่งมารวบรวมไว้ จึงเป็นเสมือนแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและเป็นการรักษาพันธุกรรมพืชไว้อีกทาง หนึ่ง
  6. สร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ดี   ด้วยพืชกินได้อย่างหลากหลาย  ซึ่งเกือบทุกชนิดเป็นพืชสมุนไพรและเป็นอาหารทำให้พฤติกรรมการบริโภคถูกสร้าง สมให้มีการบริโภคที่หลากหลาย
  7. รักษาสภาพนิเวศ  ทำให้พื้นที่มีสภาพใกล้เคียงป่าธรรมชาติ จึงเสมือนเป็นการรักษาสภาพระบบนิเวศให้อยู่ในภาวะสมดุล
  8. การเก็บน้ำไว้ในพื้นที่  ความหนาแน่นหลากหลายของพืชพรรณทำให้เกิดการอุ้มน้ำไว้ ได้ด้วยการคลุมดิน และระบบรากที่คล้ายกับป่าธรรมชาติที่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้
  9. การสร้างรายได้ตลอดปี   มีพืชเกษตรที่หลากหลาย ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวไม่ตรงกัน บางชนิด สามารถให้ผลผลิตทั้งปี ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวเกิดการกระจายให้มีทั้งปี
  10. การสร้างความยั่งยืน    อายุของพืชพรรณนี้ปลูกลงไปยืนยาวเกื้อกูลกัน ก่อเกิดความยั่งยืน ของระบบ มีรูปแบบการปรับตัวของพันธุ์พืชให้อยู่ร่วมกันได้
  11. ด้านเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้เกิดรายได้ตลอดปีเกิดการพึ่งพาตนเอง  มีอาหารไว้บริโภคเป็นของตนเองอย่างพอเพียง และการสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ
  12. การสร้างความผูกพันกับพื้นที่และการรักถิ่น  เนื่องจากต้องใช้เวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องดูแล เก็บเกี่ยว ก่อเกิดความใส่ใจความรักผูกพันต่อพื้นที่

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น