วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อุปกรณฺ์ให้น้ำ สมัยใหม่

อุปกรณฺ์ให้น้ำ สมัยใหม่

ที่มาครับ ขอบคุณครับ http://www.ku.ac.th/e-magazine/february44/agri/water.html

นายพงศ์ศักดิ์ ชลธนสวัสดิ์
ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร
วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
โทร.034-351885 (สายใน 3338-40)
สภาวะการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรในปัจจุบันเป็นปัญหาที่สำคัญ สำหรับเกษตรกร การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการผลิตทางการเกษตร นับวันจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกพืชเพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตตรงตามความ ต้องการของตลาด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิธีการให้น้ำและปริมาณน้ำที่จะต้องให้แก่พืช เพื่อให้พืชใช้น้ำได้อย่างพอเพียงตลอดฤดูเพาะปลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งถ้าหากให้น้ำในปริมาณหรือระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม ต่อความต้องการของพืชก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่อพืชหรือตรงข้ามอาจก่อให้เกิดผล เสียต่อพืชขึ้นได้
นอกจากปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้วปัญหาแรงงานก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในการทำการเกษตรในปัจจุบัน เนื่องจากแรงงานในภาคการเกษตรได้ลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ค่าแรงงานสูงขึ้น ในการเพาะปลูกพืชมีความจำเป็น จะต้องมีการให้น้ำดังนั้นการเลือกวิธีการให้น้ำที่เหมาะสมกับ สภาพพื้นที่นอกจากจะทำให้พืชเจริญเติบโตดี ไม่ขาดน้ำและรากพืชไม่กระทบกระเทือนอันเนื่องมากจากน้ำที่ให้แล้วยังช่วย ประหยัดแรงงานได้อีกทางหนึ่ง นั่นหมายถึงเกษตรกรสามารถลดต้นทุนในส่วนของแรงงานและค่าพลังงานที่จำเป็นใน การให้น้ำลงได้ วิธีการให้น้ำพืชที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังต้องช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืชด้วย โดยวิธีการให้น้ำที่ดีจะต้องสามารถให้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีที่จำเป็นต่อพืช ได้ในขณะให้น้ำ ทั้งนี้จะเห็นว่านอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยแล้วยังสามารถลด แรงงานในการให้น้ำได้ด้วย เนื่องจากวิธีการให้ปุ๋ยร่วมกับระบบให้น้ำพืชมีความต้องการแรงงานน้อยเมื่อ เทียบกับวิธีการให้น้ำแบบเดิม
ระบบการให้น้ำพืชที่เกษตรกรนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นในการเลือกใช้เกษตรกร จะต้องมีความรู้เรื่องหลักการเลือกใช้ที่ถูกต้อง เหมาะสมกับชนิดของพืช และสภาพพื้นที่ระบบการให้น้ำพืชจึงจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนที่เกษตรกรจ่ายไป นอกจากนี้อุปกรณ์ต่างๆ ในระบบให้น้ำพืชยังมีเทคนิควิธีการใช้งาน และการดูแลรักษาที่อาจจะไม่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่ต้องมีความรู้และเข้าใจในการใช้และการดูแลรักษาเพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น อุปกรณ์ให้น้ำพืชแบบหยดและแบบฉีดฝอย ประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
1. อุปกรณ์จ่ายน้ำ ทำ หน้าที่ในการจ่ายน้ำหรือกระจายน้ำให้กับพืช มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับความต้องการน้ำของพืชและแรงดันที่ใช้งาน โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ หัวจ่ายน้ำแบบหยด กับหัวจ่ายน้ำแบบสปริงเกลอร์
    1.1 อุปกรณ์จ่ายน้ำแบบหยด เป็นอุปกรณ์จ่ายน้ำให้พืชทีละน้อยๆ มีอัตราการจ่ายน้ำ 2 - 20 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้แรงดันน้ำต่ำ ประมาณ 0.5 - 2 บาร์ และอุปกรณ์ให้น้ำแบบหยดยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามลักษณะการติดตั้งกับท่อจ่ายน้ำคือ
             1.1.1 ชนิดที่ติดตั้งบนท่อ (On Line Drippers) โดยแยกเป็นหัวๆ สามารถที่จะกำหนดระยะการติดตั้งเองได้ด้วยการเจาะท่อ แล้วนำหัวน้ำหยดชนิดนี้ไปติดตั้งโดยการเสียบลงไปในท่อพลาสติกพีอี หัวน้ำหยดจะยึดติดกับท่อโดยอัตโนมัติ ถ้าหากใช้ท่อพีวีซีเป็นท่อส่งน้ำก็จะมีหัวน้ำหยดชนิดที่มีที่เสียบเป็นแบบ เกลียว สามารถขันเข้าไปในท่อพีวีซีที่เจาะรูด้วยสว่านเจาะรู นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทั้งชนิดที่ปรับแรงดันน้ำได้ในตัวและชนิดที่ไม่ สามารถปรับแรงดันน้ำได้แต่จะมีราคาถูกกว่า

ภาพที่ 1 หัวน้ำหยดแบบติดตั้งบนท่อ
             1.1.2 ชนิดที่ติดตั้งภายในท่อ (In Line Drippers) เป็นลักษณะท่อที่ติดตั้งหัวน้ำหยดในตัวท่อโดยมีระยะห่างของหัวจ่ายน้ำคงที่ เช่น 20 เซนติเมตร ถึง 120 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะผลิตมาจากโรงงาน ไม่สามารถที่จะกำหนดระยะห่างของหัวหยดในภายหลังได้จึงเหมาะสำหรับพืชที่ปลูก เป็นแถวเช่น ผัก ข้าวโพด



ภาพที่ 2 หัวน้ำหยดแบบติดตั้งในท่อ
     1.2 อุปกรณ์จ่ายน้ำแบบสปริงเกลอร์ เป็นอุปกรณ์ให้น้ำที่ทำหน้าที่กระจายน้ำให้กับพืชคล้ายๆ ฝนตกโดยฉีดน้ำขึ้นไปบนอากาศแล้วตกลงมาที่ต้นพืช มีตั้งแต่ขนาดเล็กอัตราการให้น้ำตั้งแต่ 7 - 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง แรงดันใช้งานตั้งแต่ 1 - 10 บาร์ มีรัศมีการกระจายน้ำตั้งแต่ 1 - 50 เมตร ถ้าแบ่งชนิดของหัวสปริงเกลอร์ตามลักษณะของน้ำที่ฉีดออกมาสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
             1.2.1 หัวพ่นหมอก (Mist) ลักษณะของน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากหัวจ่ายน้ำแบบนี้จะมีลักษณะเป็นละอองหมอก เล็กๆ อัตราการจ่ายน้ำน้อย ประมาร 7 ลิตรต่อชั่วโมง แต่ต้องการแรงดันในการใช้งานสูงอย่างน้อย 2 บาร์ขึ้นไปเพื่อทำให้น้ำที่ถูกพ่นออกมาเป็นละอองละเอียด ใช้ในการเพิ่มความชื้นให้กับอากาศ หรือใช้ในการระบายความร้อนได้ในโรงเรือนเพาะชำ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรือนปศุสัตว์เพื่อลดความร้อนของโรงเรือนได้ น้ำที่ใช้จะต้องมีความสะอาดมาก

ภาพที่ 3 หัวสปริงเกลอร์แบบพ่นหมอก
             1.2.2 หัวพ่นฝอย (Spray) เป็นหัวจ่ายน้ำที่ฉีดน้ำออกมาเป็นเม็ดน้ำ ซึ่งมีขนาดใหญ่และปริมาณน้ำการจ่ายน้ำมากกว่าแบบพ่นหมอก แต่แรงดันที่ใช้ต่ำกว่า มีรัศมีการกระจายน้ำประมาณ 1 - 2 เมตร สามารถเลือกมุมในการให้น้ำได้ เช่น 90, 180 และ 360 องศาในแนวราบ ตามลักษณะการปลูกพืชหรือแปลงปลูก น้ำที่ใช้จะต้องมีความสะอาดพอสมควร

ภาพที่ 4 หัวสปริงเกลอร์แบบพ่นฝอย
             1.2.3 หัวมินิสปริงเกลอร์ (Mini Sprinklers) เป็นหัวกระจายน้ำที่มีลักษณะของเม็ดน้ำที่ฉีดออกมามีขนาดใหญ่ขึ้น อัตราการจ่ายน้ำ 50 - 350 ลิตรต่อชั่วโมง มีรัศมีการให้น้ำ 2 - 6 เมตร ใช้แรงดัน 1 - 3 บาร์ มีทั้งแบบติดตั้งบนท่อแขนงโดยใช้ท่อตั้ง (Riser) แยกขึ้นมาเหนือดินและแบบที่มีท่อเล็กๆ จ่ายน้ำจากท่อแขนงมายังหัวจ่ายน้ำ แบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ
                  1.2.3.1 แบบมีใบพัดหมุนเหวี่ยงน้ำ ใบพัดจะทำหน้าที่หมุนเหวี่ยงน้ำให้กระจากไปรอบๆ หัวจ่ายน้ำโดยอาศัยแรงดันของน้ำเป็นตัวผลักดันให้ใบพัดหมุน
                  1.2.3.2 แบบใช้น้ำกระทบกับผนังด้านบน เป็นแบบที่อาศัยน้ำที่ถูกฉีดออกมาจากหัวฉีดแล้วกระทบกับผนังด้านบนแล้วแตกกระจายออก
                  1.2.3.3 แบบท่อเจาะรู เป็นท่อที่เจาะรูด้านบนและด้านข้างเพื่อให้น้ำฉีดออกมาได้

ภาพที่ 5 หัวสปริงเกลอร์แบบมินิสปริงเกลอร์
             1.2.4 หัวสปริงเกลอร์ (Sprinklers) มีอัตราการจ่ายน้ำสูงมากกว่า 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป รัศมีการเปียกน้ำตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป ต้องการแรงดันในการทำงานตั้งแต่ 4 - 7 บาร์ มีลักษณะของหัวมากมายหลายแบบทั้งแบบที่ฉีดน้ำออกทางด้านหน้าด้านเดียว และแบบที่ฉีดน้ำออกทั้งสองข้างโดยด้านหน้าจะฉีดได้ไกลกว่าด้านหลัง ซึ่งโดยมากน้ำจะไม่ตกในบริเวณที่ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์ จึงจำเป็นจะต้องมีการฉีดน้ำออกมาทางด้านหลังเพื่อช่วยแก้ปัญหาการกระจายน้ำให้ดีขึ้น

ภาพที่ 6 หัวสปริงเกลอร์ขนาดใหญ่
             1.2.5 หัวสปริงเกลอร์สำหรับสนามหญ้า (Pop Up sprinklers) เหมาะสำหรับใช้กับสนามหญ้า ซึ่งจะไม่กีดขวางหรือเกะกะเนื่องจากหัวสปริงเกลอร์ชนิดนี้ จะถูกฝังไว้ในดินจะโผล่ขึ้นมาเหนือดิน เฉพาะขณะทำงานเท่านั้นตัวหัวสปริงเกลอร์จะเก็บอยู่ในกล่องมีฝาปิดอย่างดี การทำงานของหัวสปริงเกลอร์จะต้องอาศัยแรงดันของน้ำในการยกตัวของหัวขึ้น เหนือพื้นดินแล้วฉีดน้ำออกไป และเมื่อหยุดให้น้ำแรงดันของน้ำก็จะลดลงทำให้หัวสปริงเกลอร์พร้อมฝาปิดลด ระดับลงและเข้าไปเก็บอยู่ในกล่องอย่างเดิม การเลือกใช้หัวสปริงเกลอร์สนามหญ้านั้นสามารถเลือกมุมการฉีดน้ำในแนวราบได้ บางรุ่นสามารถปรับองศาการฉีดน้ำให้เหมาะสมกับสภาพสนามหญ้าแต่ละแห่งได้

ภาพที่ 7 หัวสปริงเกลอร์สำหรับสนามหญ้า
2. ท่อ (Piping)
ทำหน้าที่ในการส่งน้ำจากแหล่งน้ำไปให้หัวจ่ายน้ำ โดยมีการเชื่อมต่อท่อด้วยข้อต่อชนิดต่างๆ ถ้าหากความยาวของท่อไม่เพียงพอ ท่อส่งน้ำมีหลายชนิดคือ
    2.1 ท่อพีวีซี (PVC) เป็นท่อพลาสติก ยาวท่อนละ 4 เมตร ไม่ทนต่อแสงอุลตร้าไวโอเล็ต แตกหักได้ง่ายหากกระทบกระเทือนหรือโดนรถเหยียบ แบ่งตามชนิดการใช้งานได้ 3 ประเภทคือ
             2.1.1 ท่อพีวีซีสีเทา ใช้ในงานส่งน้ำทางการเกษตรซึ่งไม่ต้องการแรงดันมากนำ มีความหนาของท่อน้อย
             2.1.2 ท่อพีวีซีสีเหลือง ใช้ในงานร้อยสายไฟฟ้าทนต่อความร้อนและไฟได้ดี
             2.1.3 ท่อพีวีซีสีฟ้า ใช้ในงานส่งน้ำประปาและการเกษตร มีความหนามากกว่าแบบอื่น ทนแรงดันได้ดีกว่า แบ่งออกเป็น 3 ชั้นคุณภาพ (Class) โดยจะมีความหนาและสามารถทนแรงดันได้แตกต่างกัน คือ
                  2.1.3.1 ชั้น 5 หมายถึงใช้งานที่แรงดัน 5 บาร์
                  2.1.3.2 ชั้น 8.5 หมายถึงใช้งานที่แรงดัน 8.5 บาร์
                  2.1.3.3 ชั้น 13.5 หมายถึงใช้งานที่แรงดัน 13.5 บาร์
    2.2 ท่อเหล็ก มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหลายขนาดให้เลือกใช้ ผลิตจากเหล็กอาจจะอาบสังกะสีเพื่อป้องกันสนิม นอกจากนี้ยังมีชนิดที่ผลิตจากเหล็กหล่อ ท่อเหล็กจะทนแรงดันได้สูงมากจึงเหมาะสำหรับเป็นท่อส่งน้ำออกจากเครื่องสูบ น้ำ
    2.3 ท่ออลูมิเนียม ทนแรงดันได้สูง มีน้ำหนักเบาใช้เป็นท่อส่งน้ำสำหรับระบบให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ทำให้ประหยัดท่อ
     2.4 ท่อซีเมนต์ใยหิน ผลิตจากซีเมนต์ผสมกับใยหิน ทนแรงดันได้สูง มีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับเป็นท่อส่งน้ำที่ต้องการปริมาณน้ำมากๆ

ภาพที่ 8 ท่อชนิดต่างๆ
3. ข้อต่อ (Fitting) ข้อต่อที่ใช้สำหรับระบบประกอบไปด้วย ข้อต่อตรง ข้องอฉาก ข้อต่อสามตาฉาก ข้อลด สามตาลด ข้อโค้ง เลือกใช้ตามมุมโค้งที่ต้องการ ซึ่งอาจจะใช้ข้อต่อตามชนิดของวัสดุที่ผลิตท่อก็ได้หรืออาจจะใช้ผสมกันตาม ความเหมาะสมก็ได้


ภาพที่ 9 ข้อต่อท่อชนิดต่างๆ
4. เครื่องสูบน้ำและต้นกำลัง (Pumping) ทำหน้าที่สูบน้ำและเพิ่มแรงดันให้กับระบบ มีหลายประเภทแยกตามหลักการทำงาน เช่น เครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง เครื่องสูบน้ำแบบปั้มชัก เครื่องสูบน้ำแบบเจ็ตปั้มและเครื่องสูบน้ำแบบโรตารี่ ต้นกำลังที่ใช้อาจจะเป็นเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า การเลือกใช้เครื่องสูบน้ำที่ดีจะต้องพิจารณาถึงอัตราการสูบน้ำหรือความ สามารถในการสูบน้ำต่อระยะเวลา ซึ่งจะต้องเพียงพอต่อความต้องการน้ำของหัวจ่ายน้ำในการเปิดน้ำแต่ละครั้ง และจะต้องพิจารณาถึงแรงดันสูงสุดหรือแรงดันใช้งานที่เครื่องสูบน้ำสามารถส่ง น้ำไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้อัตราการจ่ายน้ำของหัวจ่ายน้ำเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและมีรัศมี การฉีดตรงตามที่ออกแบบ

ภาพที่ 10 เครื่องสูบน้ำประเภทต่างๆ
5. เครื่องกรองน้ำสำหรับการเกษตร (Filters) ทำหน้าที่ในการกรองน้ำหรือขจัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับน้ำก่อนที่จะส่งเข้าระบบ ให้น้ำพืช การเลือกใช้เครื่องกรองน้ำจะต้องพิจารณาถึงวัสดุที่ใช้ในการกรอง อัตราการกรองน้ำสูงสุด ความดันที่ต้องการและความดันที่สูญเสียจากการกรอง ที่สำคัญคือความละเอียดในการกรอง ซึ่งระบบให้น้ำแบบหยดแนะนำให้ใช้ความละเอียดของวัสดุกรอง ตั้งแต่ 120 เมชขึ้นไป ส่วนการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ควรใช้วัสดุกรองที่มีความละเอียดตั้งแต่ 80 เมช มีข้อแนะนำว่าขนาดของอนุภาคที่ยอมให้ผ่านเครื่องกรองได้นั้น จะต้องมีขนาดเล็กกว่ารูหรือช่องของหัวปล่อยน้ำไม่น้อยกว่า 10 เท่า เพราะอนุภาคทั่ว ๆ ไป อาจก่อตัวกันเป็นกลุ่มและขวางทางน้ำออกได้ เครื่องกรองน้ำมีหลายประเภทสามารถแยกตามวัสดุที่ใช้ในการกรองได้ คือ
     5.1 เครื่องกรองแบบตะแกรงลวด ลักษณะของไส้กรองจะเป็นตะแกรงลวด ตะแกรงดังกล่าวอาจจะทำด้วยลวดทองเหลือง หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่เป็นสนิมและมีความทนทาน เช่นพวกไนล่อนและเหล็กไร้สนิม เป็นต้น รูที่เกิดระหว่างลวดในตะแกรงเรียกว่า ช่องเปิด และเป็นสิ่งที่ใช้กำหนดชนิดความละเอียดของตะแกรง คือ นับจำนวนช่องเปิดต่อความยาวของตะแกรง 1 นิ้ว เช่น ตะแกรงเบอร์ (เม็ช) 120 หมายถึงในความยาว 1 นิ้วนั้นจะมีรูเรียงกันอยู่ 120 รู เครื่องกรองแบบตะแกรงเหมาะที่จะใช้กับน้ำผิวดินที่ค่อนข้างสะอาด หรือน้ำจากบ่อบาดาลเท่านั้น เครื่องชนิดนี้อาจจะติดตั้งที่ทางเข้าท่อประธานหรือท่อประธานย่อย และบางครั้งก็ต้องใช้เครื่องกรองแบบนี้รวมกันในชุดเครื่องกรองชนิดอื่น ๆ
     5.2 เครื่องกรองแบบแผ่นพลาสติก ลักษณะของไส้กรองจะเป็นแผ่นพลาสติกบางๆ หลายๆ แผ่นประกบกันอยู่และอัดแน่นด้วยสปริงและตัวเรือนของเครื่องกรองเอง ไส้กรองสามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึงและง่ายกว่าแบบตะแกรงปัจจุบันจึงเป็นที่ นิยมใช้กันมากกว่าแบบตะแกรง
     5.3 เครื่องกรองแบบถังทราย ใช้ทรายเป็นวัสดุในการกรองเครื่องกรองแบบนี้สร้างขึ้นเพื่อขจัดอนุภาคขนาด ละเอียดที่สามารถผ่านเครื่องกรองแบบตะแกรงได้ มีประสิทธิภาพในการกรองมากในการกำจัดอินทรีย์วัตถุและตะไคร่น้ำ เพราะเครื่องกรองแบบถังทรายจะมีพื้นที่ผิวของการกรองที่มากและเหลี่ยมหรือมน ของทรายสามารถที่จดักจับเมือกของพวกตะไคร่น้ำได้ดี โดยทั่วไปใช้ชั้นทรายและกรวดที่มีขนาดต่าง ๆ กันเรียงหลายชั้น เพื่อให้น้ำซึมผ่านและกรองในแต่ละชั้น ขนาดเม็ดทรายหรือวัสดุกรองที่นิยมใช้คือ 0.5, 0.75 และ 1 มม. กรวดหรือเศษหินจากภูเขาไฟก็เป็นวัสดุที่เหมาะสมนำมาเป็นวัสดุกรองได้อย่างดี ความลึกของชั้นกรองสามารถผันแปรจาก 30 ซม. ถึง 1.50 เมตร แต่ที่นิยมใช้กันมากอยู่ระหว่าง 60-80 ซม. สำหรับอัตราการไหลต่อหน่วยพื้นที่ยิ่งต่ำ การกรองก็ได้ผลดีมากยิ่งขึ้นและการใช้วัสดุกรองยิ่งละเอียด มาตรฐานของอัตราการกรองไม่ควรเกิน 2 ลิตร/ชม./ซม.2 สำหรับทรายที่มีขนาด 0.4-0.6 มม.และความหนาของชั้นทรายประมาณ 75 ซม. แต่ในปัจจุบันนิยมใช้อัตราที่สูงกว่าคือ ประมาณ 4-6 ลิตร/ชม./ซม.2 โดยใช้กับทรายหยาบ ซึ่งมีชั้นความหนาประมาณ 60-70 ซม. การทำความสะอาดทำได้โดยการอัดน้ำกลับทาง น้ำจะไหลย้อนกลับล้างจากก้นถังขึ้นไปยังข้างบน แล้วเปิดเอาตะกอนออกทิ้งไป สำหรับความถี่ของการล้างทำความสะอาดจะผันแปรจากช่วงสั้น ๆ 2-3 ชม. ถึงทุก ๆ วัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำและสารกรองที่ใช้
     5.4 ครื่องกรองแบบถังไซโคลน เป็นเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในการแยกทรายออกจากน้ำ ในกรณีที่น้ำมีเม็ดทรายปะปนอยู่ รูปร่างของเครื่องกรองมีลักษณะคล้าย ๆ กรวยคว่ำลง โดยให้น้ำไหลเข้าด้านข้าง เกิดการไหลเหวี่ยงวน ส่วนทางน้ำออกอยู่ข้างบน หลักการทำงานของเครื่องกรองชนิดนี้ คือน้ำจะเข้าทางด้านข้างและไหลวน จนเกิดการเคลื่อนที่เป็นแบบน้ำเหวี่ยงวนสองชนิดขึ้นภายในตัวถังกรอง คือกระแสน้ำวนหลัก จะเหวี่ยงวนนำพาอนุภาคของของแข็งกระทบกับผนังของเครื่องกรอง และตกลงข้างล่างเพื่อระบายทิ้ง และกระแสน้ำวนรองจะยกน้ำสะอาดขึ้นสู่ทางออกข้างบน เครื่องกรองชนิดนี้ถึงแม้มีขนาดเล็ก ก็สามารถกรองทรายขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถจะขจัดพวกอินทรีย์วัตถุ หรืออนุภาพที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำได้ จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับเครื่องกรองน้ำชนิดอื่น ๆ
ภาพที่ 11 เครื่องกรองน้ำสำหรับการเกษตรชนิดต่างๆ
6. อุปกรณ์อื่นๆ
    6.1 เกจวัดแรงดันน้ำ สำหรับวัดแรงดันของน้ำภายในระบบอาจจะติดตั้งได้หลายจุดเช่น หน้าและหลังเครื่องกรองน้ำ ที่เครื่องสูบน้ำและอาจจะติดตั้งที่ท่อรองประธานในแปลงพืชอีกก็ได้
    6.2 มิเตอร์วัดอัตราการไหลของน้ำ สำหรับดูปริมาณน้ำที่จ่ายเข้าแปลงพืชว่ามีปริมาณตามที่กำหนดไว้หรือไม่
    6.3 วาล์วระบายอากาศ สำหรับระบายอากาศออกจากระบบท่อเพื่อให้น้ำไหลผ่านท่อได้สะดวกขึ้น
    6.4 วาล์วกันน้ำไหลย้อนกลับ
    6.5 เครื่องผสมปุ๋ยเคมีร่วมกับระบบให้น้ำพืช
    6.6 วาล์วไฟฟ้า
    6.7 เครื่องควบคุมการให้น้ำพืชแบบอัตโนมัติ



ภาพที่ 12 อุปกรณ์ประกอบระบบอื่นๆ เช่น เกจวัดแรงดันน้ำ มิเตอร์วัดปริมาณและอัตราการไหลของน้ำ ประตูน้ำธรรมดาและไฟฟ้า วาล์วลดแรงดันน้ำ ถังและสวิทช์ควบคุมแรงดัน

จัดทำโฮมเพจโดย : สำนักบริการคอมพิวเตอร์, 1 กุมภาพันธ์ 2544

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น